วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เรื่อง ขี้ ขี้

     ก่อนอื่นต้องขอกล่าวคำว่าสวัสดีปีใหม่ 2559 ปีลิง ขอให้ทุกท่านที่ได้ติดตามบทความของผมมีความสุขตลอดปีใหม่นะครับ ทำกิจการงานอะไรก็ขอให้ว่องไว สำเร็จรวดเร็วในปีนี้และปีต่อๆ ไปกันทุกคนเลยนะครับ


     ปีใหม่นี้เรามาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ง่าย สบายๆ ด้วยเรื่อง ขี้ ขี้  ฟังดูง่ายๆ สบายๆ ใช่ไหมครับ  เราคุ้นเคยกับคำว่า "ขี้" มาเยอะมากในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องขี้ประติ๋ว  เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง  ขี้น้อยใจ  ขี้บ่น  ขี้เหนียว  ขี้โม้  และอีกหลายๆ ขี้ หลายคนอาจตกใจว่าผมเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟัง  แต่เรื่อง ขี้ ขี้ นี้แหละครับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  เป็นเรื่องที่คู่กับเรามาตั้งแต่เกิด  และตราบเท่าที่เรายังไม่ลมหายใจ

     ขี้ นั้นสำคัญ ไฉน  ขี้ (อุจจาระ) เป็นของเสียที่ร่างกายของเราขับออกมา  ที่ผ่านกระบวนการย่อยอาหารผ่านระบบต่างๆ ไม่ว่าจะตั้งแต่การเคี้ยว  การย่อยของกระเพาะอาหาร  ผ่านลำไส้เล็ก จนถึงลำไส้ใหญ่  แล้วออกมาเป็นอุจจาระซึ่งเป็นกระบวนการขับของเสียของจากร่างกายทางหนึ่ง  ซึ่งเป็นกากของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

     แล้วเราเคยสังเกตสี และกลิ่นของอุจจาระเราบ้างไหมครับ  เอ๊ะ  มาถามกันอะไรแบบนี้  ใครจะไปดูของสกปรก  แต่ของที่สกปรก  ก็เคยเป็นของแสนอร่อยหน้าตาสวยงามที่เราเคยรับประทานกันเข้าไป  ใช่ไหมครับ


     ทำไมเราจึงควรสังเกตสี  และกลิ่นของอุจจาระ  เพราะว่าสีของอุจจาระ และกลิ่นนั้นบ่งถึงสุขภาพร่างกายของท่านนั้นเอง

ทีนี้เรามาดูว่าลักษณะ สี และกลิ่นของอุจจาระบ่งบอกอะไรเราได้บ้าง

อุจจาระที่ดี ไม่ควรถูกเก็บกักอยู่ในร่างกายนานเกินไป โดยอุจจาระที่ดีที่สุดควรจะออกมาภายใน 24 ชั่วโมงหลังการบริโภคอาหาร ลักษณะของอุจจาระตามการจำแนกของบริสตอล (The Bristol Stool Form Scale) มี 7 ชนิด คือ
1. เป็นขี้แพะ ก้อนเล็กและแข็งมาก
2. ก้อนแข็งเหมือนกระสุนขนาดใหญ่
3. เป็นแท่งเหมือนไส้กรอก ผิวมีรอยแตก
4. เป็นแท่งยาว นิ่ม ผิวเรียบ ส่วนปลายแหลมเหมือนหางงู
5. นิ่มมาก แต่ยังคงรูปร่างได้
6. เหลว ไม่คงรูปร่าง
7. เป็นน้ำ
ส่วนลักษณะอุนจิที่ดี ในหนังสือ “หัวใจอึ” อาจารย์บุนเป โยริฟุจิ เขียนไว้ว่า
แบบที่ 1 “อึแบบกล้วย”
มีสีเหลือง มีกลิ่นแบบพอรับได้ มีปริมาณน้ำประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป เมื่อตกลงน้ำแล้วจะลอยตัว พร้อมจะมีเศษหลุดออกมา
อึแบบนี้เป็นอึที่มีสภาพดีมาก บอกถึงสภาพจิตใจที่ดี และอาหารที่รับประทานก็มีความสมดุลต่อร่างกาย ควรรักษาให้มีอึแบบนี้ตลอดไปจะดีต่อสุขภาพของคุณ
แบบที่ 2 “อึแบบผอม”
มีสีน้ำตาลแดงปนดำ มีน้ำประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ เวลาปล่อยจะมีลักษณะขาดเป็นช่วงๆ คล้ายเส้นอุด้ง รูปร่างผอมลีบ เหลวข้น และมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
อึแบบนี้จะมาจากคนที่กล้ามเนื้อท้องมีปัญหา อาจเกิดจากการขาดสารอาหาร หรือกำลังอยู่ในช่วงที่ลดน้ำหนักจนมากเกินไป อึแบบนี้ไม่ดีนัก  ควรปรับปรุงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และดูแลลำไส้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยของหมัก อาทิ ผักดอง
แบบที่ 3 “อึแบบดินโคลน”
มีสีน้ำตาลแดงเข้มค่อนไปทางดำ มีกลิ่นแรงและเหม็นมาก ลักษณะเป็นดินโคลนมีน้ำประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์ ถ่ายครั้งละมากๆ คล้ายกับคนเป็นท้องเสีย
อึแบบนี้เป็นเพราะร่างกายดูดซึมน้ำไม่เพียงพอ ต้องระวังลำไส้จะเป็นแผล ดังนั้นควรพักผ่อนเยอะๆ เพราะการอึแบบนี้เป็นสัญญาณของการอดนอน อีกทั้งควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะๆ งดอาหารเผ็ด หรือชา กาแฟ   ถ้าอึเป็นแบบนี้นานๆ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง
แบบที่ 4 “อึแบบน้ำ”
มีโอกาสเป็นได้หลายสี ยกเว้น…สีน้ำตาล ถ่ายแต่ละครั้งจะมีปริมาณประมาณ 2-3 ถ้วยกาแฟเลย ลักษณะเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็นมาก
อึแบบนี้คือ อึที่ลำไส้ไม่ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ สาเหตุก็คงมาจากเรื่องของความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นควรจะพักผ่อนเยอะๆ ทำจิตใจให้สบาย และงดอาหารจำพวกที่มีไขมันและโปรตีนสูง ควรกินผักเยอะๆ แทน และถ้ายังอึเป็นเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
แบบที่ 5 “อึแบบแข็งปนน้ำ”
มีโอกาสเป็นได้หลายสี ถ่ายออกมาแต่ละครั้งมีปริมาณประมาณ 1-2 ถ้วยซุป อาจจะเหม็นบ้างไม่เหม็นบ้าง มีลักษณะเป็นน้ำประมาณ 60-90 เปอร์เซ็นต์ และแต่ปริมาณก้อนเศษอาหารที่ผสม อึแบบนี้จะถ่ายออกมาในลักษณะเป็นน้ำสลับแข็ง หรือพร้อมๆ กัน
บ่งบอกได้ว่าลำไส้ขาดความแข็งแรงแล้ว อาจเพราะความเครียด หรือมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น ดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือไม่ก็ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพโดยละเอียดอีกครั้ง
แบบที่ 6 “อึแบบแข็ง”
มีสีน้ำตาล น้ำตาลแดง หรือดำ มีลักษณะเป็นก้อนหินเม็ดเล็กๆ ประมาณ 2-10 เม็ดเหมือน “ขี้กระต่าย” มีกลิ่นเหม็นมาก และทุกเม็ดแข็งมากๆ
นั่นเพราะในลำไส้ขาดน้ำ และอึเม็ดเล็กๆ ไปแข็งอยู่ในลำไส้นาน จึงส่งผลทำให้เกิดโรคท้องผูก ดังนั้นผู้ที่มีอึแบบนี้จึงควรดื่มน้ำเยอะๆ และทานอาหารที่มีไฟเบอร์ เพื่อให้ลำไส้ทำงานดีขึ้น และที่สำคัญอย่ากลั้นอึเด็ดขาด มิฉะนั้นโรค”ริดสีดวงทวาร” จะถามหาเอา
แบบที่ 7 “อึแบบดีที่สุด
มีสีเหลืองทอง น้ำหนัก 400 กรัม กลิ่นไม่แรงมากนัก มีลักษณะเป็นขดเป็นวง (เหมือนในการ์ตูน) เสมือนอึแบบกล้วยที่ยาวมากจนขดกันเป็นวงโดยที่ไม่ขาด แถมยังมีความนุ่มนวลอีกด้วย เจ้าของอึแบบนี้ ต้องบอกว่ามีสุขภาพที่ดีเยี่ยม แถมยังมีสภาพจิตใจที่อยู่ในสภาวะสมบูรณ์สุดขีด
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไส้ใหญ่เชื่อว่า ลักษณะอุจจาระบ่งบอกถึงสุขภาพของลำไส้ใหญ่ได้ดีกว่าความถี่บ่อยในการถ่ายอุจจาระ
โดยอุจจาระแบบที่ 1 จะอยู่ในลำไส้นานสุด จึงถูกลำไส้ใหญ่ดูดเอาน้ำออกไปกลายเป็นก้อนเล็กและแข็ง อุจจาระแบบที่ 3 และ 4 เป็นอุจจาระที่น่าพึงประสงค์ที่สุด เนื่องจากเวลาอยู่ในลำไส้นานพอดี ๆ มีความอ่อนพอดี ไม่ต้องเบ่งจนเหนื่อย เวลาถ่ายแล้วจะรู้สึกโล่งท้อง
สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาอีกก็ คือ สี กลิ่น และมีมูกหรือเลือดออกมาด้วยหรือไม่
  • สีเขียว ใครที่กินผักมากหน่อยจะมีสีออกเขียว
  • สีน้ำตาล แสดงว่ามันค้างอยู่นานมากจึงถูกแบคทีเรียหมักจนเปลี่ยนสี
  • สีดำเหมือนถ่านแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น หรืออาจจะมาจากการกินอาหาร (เช่น เลือดหรือตับ) หรือยาที่มีธาตุเหล็ก ก็ทำให้อุจจาระมีสีดำได้
  • กรณีที่มีมูกหรือเลือดปน แสดงว่ามีอาการอักเสบเกิดขึ้นในลำไส้ ถ้ามีเลือดเก่า ๆ แสดงว่ามีแผลที่ลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีเลือดสีแดงสดแสดงว่ามีแผลที่บริเวณทวารหนัก หรืออาจจะเกิดริดสีดวงทวารก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ควรพิจารณาเรื่องกลิ่นด้วย
  • อุจจาระที่ดีที่สุดไม่ควรมีกลิ่น หรืออาจมีกลิ่นน้อย ๆ เป็นเรื่องปกติ
  • ถ้ามีกลิ่นเหม็นมากต้องให้ความสนใจสุขภาพแล้ว ถ้าเราบริโภคข้าวกล้องเป็นประจำ กินผักมาก ซึ่งมีสารเส้นใยมาก กินเนื้อสัตว์น้อย อุจจาระแทบจะไม่มีกลิ่นเลย
  • ในทางกลับกัน ถ้าบริโภคแต่เนื้อ นม ไข่ แทบจะไม่กิน ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ หรือเจอผักเส้นเดียวยังเขี่ยทิ้ง แบบนี้ อุจจาระจะค้างอยู่ในลำไส้นานมาก เกิด การหมักหมมของอุจจาระจนเน่าเสีย เกิดกลิ่นรุนแรงขึ้น
อุจจาระที่สมบูรณ์แบบควรเป็นอย่างไร
สำหรับความรู้สึกอยากถ่ายนั้น ถ้าเรามีอุจจาระที่สมบูรณ์แบบควรเป็นดังนี้
1.  เกิดความรู้สึกอยากถ่ายขึ้นเองในเวลาที่เหมาะสม เช่น ทุกเช้า เป็นความรู้สึกที่กระตุ้นให้เราไปเข้าห้องน้ำ แต่ไม่ถึงกับ “แทบจะกลั้นไม่อยู่”
2. เมื่อนั่งลงบนโถส้วมแล้ว ทุกอย่างควรเป็นไปด้วยความราบรื่น อุจจาระควรจะมาของมันเองและออกมาแบบลื่นไหลไม่สะดุด
3. ไม่ต้องเบ่งจนหน้าดำหน้าแดง
4. หลังจากถ่ายแล้ว ควรมีความรู้สึกสบาย เพราะไม่มีอะไรมากระตุ้นทวารหนักให้อึดอัดอีก
ทำอย่างไรจึงจะมีลักษณะอุจจาระที่ดี
การกินอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับลำไส้ใหญ่ เพื่อให้มีอุจจาระที่ดีนั้น จริง ๆ แล้วไม่แตกต่างไปจากอาหารเพื่อสุขภาพตามแนวธรรมชาติบำบัดทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่ต้องเน้นได้แก่
1. ต้องได้เส้นใยอาหารเพียงพอ อย่างน้อย 25 กรัมต่อวัน อาหารที่กินต้องเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และมีสาร เส้นใยสูง โดยเฉพาะต้องเน้นข้าวกล้องให้มากๆ เพราะเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงมาก   ข้าวกล้อง 1 จาน (2 ทัพพี) มีเส้นใยถึง 6 กรัม ในขณะที่ผัก 1 จาน มีเส้นใยเพียง 2 กรัม เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะกินเส้นใยให้เพียงพออย่าง ง่าย ๆ ก็ต้องกินข้าวกล้อง เพียงมื้อละ 1 จาน 3 มื้อ ก็จะได้เส้นใยไป 18 กรัมแล้ว ที่เหลืออีก 7 กรัมก็ให้กินผัก และผลไม้อีกอย่างละ 2 จานต่อวัน เท่านี้ก็จะได้เส้นใยเพียงพออย่างง่าย ๆ ทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่โดยรวมดีขึ้น เส้นใยช่วยจับสารพิษและไขมันส่วนเกินในลำไส้ไปทิ้งอีกด้วย
2. อย่ากินเนื้อสัตว์มากเกินไป ควรเลือกอาหารโปรตีนที่มีเส้นใย จะดีกว่า ควรเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ปลา
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน
4. เลือกอาหารที่มีฤทธิ์ระบายเพื่อให้ถ่ายได้สะดวก เช่น มะละกอ กล้วย มะขาม ลูกพรุน มะเดื่อแห้ง ใบขี้เหล็ก สมอไทย สะตอ เป็นต้น
5. เลี่ยงอาหารกลุ่มที่จะทำให้ท้องผูก เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น
6. ควรขับถ่ายเป็นเวลา โดยใส่ใจในสัญญาณเตือน (ซึ่งก็คือถ้ามีอาการปวดถ่าย ไม่ควรกลั้นไว้ ควรจะรีบเข้าห้องน้ำโดยเร็ว)
7. อารมณ์ก็มีผลต่อการขับถ่าย เช่น ในภาวะเครียดจัดจะมีการเคลื่อนไหวลำไส้อย่างรุนแรงจนปวดมวนท้องหรือท้องเสีย หรืออยู่ในภาวะเร่งรีบ เป็นต้น
8. การออกกำลังกายทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น
9. การฝึกชี่กง สามารถช่วยเสริมการทำงาน ของลำไส้ได้
10. การสวนล้างลำไส้ด้วยน้ำ (Colon cleansing) ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์สวนล้างลำไส้ จะไปช่วยล้างตะกรันที่คั่งค้างอยู่ในลำไส้ให้หลุดออกมา ซึ่งอาจจะทำ ปีละ 1 – 2 ครั้ง
ครั้งต่อไปหลังจากขับถ่ายแล้ว กรุณาเหลียวกลับไปดูผลผลิตของตนเองสักนิด สิ่งนั้นบอกอะไรหลายอย่างในสุขภาพของคุณได้ดีทีเดียว กันไว้ดีกว่าป่วยแล้วแก้ไม่ทัน

ขอขอบคุณ
ที่มาของบทความ https://ac127.wordpress.com/2013/03/05/  อุจจาระบ่งบอกอาการก่อนป่วยได้
เครดิต: นิตยสาร SCI Therapy ฉบับเดือนมิถุนายน 2551
หนังสือ “หัวใจอึ” อาจารย์บุนเป โยริฟุจิ

เรื่อง ขี้ ขี้ เรื่องใกล้ตัวที่เราไม่ควรมองข้ามนะครับ

กินดีมีสุข Healthy Life by Ornicga Life
Make Life Better